จับชีพจรตลาดไทย ‘กันภัยไซเบอร์’ บูมแรงปี 64 (Cyber Weekend)

วงการป้องกันภัยโจมตีไซเบอร์บ้านเรากำลังขยายตัวคึกคัก จากเดิมที่การตื่นตัวกระจุกอยู่ที่กลุ่มธนาคารไทยและองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น วันนี้องค์กรขนาดกลางหลายบริษัทกำลังเร่งมือทุ่มงบลงทุนกับระบบป้องกันภัยโจมตีไซเบอร์แบบครอบคลุมหลายชั้นในทุกจุดความเสี่ยง

ในมุมมองของเทรนด์ไมโคร (Trend Micro) ซึ่งเป็นบริษัทที่พูดถึงการปกป้องซิเคียวริตีหลายชั้นมานาน พบว่า ไทยเริ่มลงทุนทำซิเคียวริตีหลายเลเยอร์มาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว โดยช่วงก่อนปี 63 แต่ละตลาดมีความตื่นตัวไม่เท่ากัน เพราะธนาคารและองค์กรขนาดใหญ่ตื่นตัวมาก เรียกว่าหากคะแนนเต็ม 5 ธนาคารและองค์กรขนาดใหญ่ในไทยจะได้คะแนนความตื่นตัวไป 4.5-5 คะแนนทีเดียว

สถานการณ์นี้สวนทางกับองค์กรขนาดกลางหรือที่เทรนด์ไมโครเรียกเป็นมิด มาร์เกต (mid-market) หรือตลาด Commercial เทรนด์ไมโครมองว่าปีที่แล้ว กลุ่มนี้อาจได้แค่ 2 คะแนน แต่ปีนี้คะแนนความตื่นตัวพุ่งไปถึงระดับ 3.5 คะแนน

แปลว่าตลาด ‘กันภัยไซเบอร์’ ของประเทศไทยกำลังเบ่งบานขึ้นอีก โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 64 ที่มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก เทรนด์ไมโครเปิดเผยว่า ธุรกิจในไทยเติบโต 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และฐานลูกค้ากลุ่มบริการซอฟต์แวร์ (SaaS) โตมากกว่า 623.4% และสินค้าเรือธงใหม่อย่างวิชันวัน (Vision One) นั้นเติบโต 555.9%

รูปการนี้ทำให้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ เทรนด์ไมโครวางแผนจับโฟกัสที่องค์กรขนาดกลางซึ่งต้องการ ‘ก้าวให้เร็ว’ หรือมีปัจจัยให้ต้องพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว แผนนี้จะเดินคู่ไปกับลูกค้ากลุ่ม enterprise ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีแผนลงทุนอยู่แล้ว กลายเป็น 2 กลุ่มเป้าหมายที่เทรนด์ไมโครจะให้ความสำคัญในช่วงครึ่งหลังปี 64

***ซิเคียวริตีคือแกนกลาง

นีเลช เจน รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เทรนด์ไมโคร กล่าวว่า ไทยเป็น 1 ใน 3 ตลาดหลักของอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนการแฮกองค์กรในเอเชียที่ถูกโจมตีมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และองค์กรขนาดใหญ่ยังทุ่มลงทุนเพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นดิจิทัลสำหรับแข่งขันกับฟินเทค ทำให้ต้องขึ้นคลาวด์ และทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการลงทุนไอทีในภาพรวมเกิน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปีที่แล้ว และจะเติบโตเกิน 7 พันล้านเหรียญได้ในไม่กี่ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้แปลว่าทุกบริษัทที่ต้องการจะผันตัวไปเป็นบริการดิจิทัล ล้วนจำเป็นต้องมองซิเคียวริตีเป็นแกนกลาง ทำให้เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนมากมาย

‘ประเทศไทยมีการลงทุนคลาวด์สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เวียดนามและอินโดนีเซียนั้นมีอัตราเติบโตสูง แต่ก็ถือว่ายังช้า ประเทศที่มีการลงทุนคลาวด์มากคือสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีภาคการผลิตขนาดใหญ่ และบริษัทโทรคมนาคมมีการลงทุนสูง’

ปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า บริษัทสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทสามารถดันธุรกิจในไทยจนเติบโต 15.5% (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 63) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริการใหม่อย่าง Vision One ที่เติบโตเกิน 500%

‘การเติบโต 500% มาจากลูกค้าหลายกลุ่ม อันดับแรกคือ กลุ่มสตาร์ทอัปซึ่งมีบุคลากรไม่มากและจำเป็นต้องใช้บริการ software as a service มากขึ้น กลุ่มที่ 2 คือ องค์กรใหญ่ที่ต้องไปคลาวด์ และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มธนาคาร Banking และ SSI เทรนด์ไมโครเชื่อว่าการที่ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้เร็วด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น ทำให้ภัยโจมตีขยายพื้นที่ ทำให้องค์กรต้องปรับปรุงหรือ ‘ทรานส์ฟอร์ม’ ระบบซิเคียวริตีด้วยเหมือนกัน เนื่องจากวันนี้แฮกเกอร์เปลี่ยนพฤติกรรมและปรับเป้าหมายเป็นการโจมตีที่รุนแรงขึ้นจากที่เคยฝังซอฟต์แวร์ร้ายเอาไว้ในเครือข่ายเดียว

นอกจากนี้ ภาวะที่องค์กรมีเครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น ยังทำให้การเชื่อมต่อซับซ้อนจนอาจมีช่องโหว่ให้โจมตีได้ง่าย ดังนั้น สิ่งที่องค์กรควรมีก็คือ ความสามารถในการตรวจสอบ รวมถึงมุมมองที่ครอบคลุมจุดเสี่ยงได้มากขึ้น การสำรวจของเทรนด์ไมโครพบว่าภัยไซเบอร์ปี 64 เปลี่ยนจากการฝังซอฟต์แวร์ร้ายในเครือข่ายเพื่อโจมตีเครือข่ายข้อมูลเดียว มาเป็นการวางเป้าหมายทั้ง OS หรือระบบปฏิบัติการ รวมถึงทุกอย่างที่เป็นช่องโหว่ หรือระบบแวดล้อมซึ่งจะทำความเสียหายวงกว้างกว่า

ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นทั้งส่วนภัยไซเบอร์และองค์กร สิ่งที่เทรนด์ไมโครเห็นคือการโจมตีและเรียกค่าไถ่บนไซเบอร์ที่เรียกว่าแรนซัมแวร์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 34% โดย Top 4 ของอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายการโจมตีในปี 63 ได้แก่ ภาครัฐบาล ธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต และเฮลธ์แคร์ แปลว่าองค์กรจะต้องเปลี่ยนเพื่อให้รู้ได้ตลอดเวลาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบนเครือข่าย

***เสี่ยงมาก ถ้าไม่รู้จุดเสี่ยง

ในเมื่อมีความเสี่ยงสูงหากองค์กรไม่รู้จุดเสี่ยง เทรนด์ไมโครจึงเน้นที่การทำ ‘มัลติเลเยอร์ซิเคียวริตี’ หรือการรักษาความปลอดภัยหลายชั้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง เทรนด์ไมโครไทยจะโฟกัสที่ระบบ Vision One มีกำหนดเปิดให้ลูกค้าไทยได้ใช้ในไตรมาสนี้จากที่เริ่มประกาศเปิดตัวตั้งแต่ไตรมาสที่แล้ว

‘ตอนนี้เราเป็นเทคโนโลยีเวนเดอร์ แต่จากนี้เราจะมองให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มเวนเดอร์ จะมีศูนย์ให้ลูกค้าจัดการทุกอย่างได้เอง ในมุมธุรกิจ เราเป็นผู้ค้ารายเดียวที่ทำได้ครบ ง่ายต่อการตอบสนองภัยคุกคามในอนาคต’ ปิยธิดากล่าว ‘ในมุมลูกค้า สิ่งที่ต้องคำนึงต่อก็คือ 1.การเห็นและเข้าถึงช่องโหว่ที่เป็นจุดเสี่ยงได้ 2.ต้องยืดหยุ่นและบริหารจัดการได้เร็ว และ 3.ต้องมีเครื่องมือที่เชื่อถือได้’

เทรนด์ไมโครไทยย้ำว่า บริษัทมีการลงทุนมากขึ้นในส่วนสนับสนุนพันธมิตรที่ลึกขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่มากขึ้น เบื้องต้น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังเติบโต และธนาคารยังคงอัปเดตระบบตัวเอง มีการลงทุนที่ทำให้ไทยเป็นอีโคซิสเต็มขนาดใหญ่และสำคัญระดับภูมิภาค

Leave a Comment