ซอฟต์แวร์เถื่อนระอุ! จับปรับถี่ขึ้นทั่วไทยช่วงเวิร์กฟอร์มโฮม (Cyber Weekend)

อัปเดตสถานการณ์ปัญหาการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาต (ไลเซนส์) ในองค์กรไทยช่วงพิษโควิด-19 ระบาด พบจำนวนเบาะแสและการแจ้งความเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจช่วงครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 63 ส่งให้ตัวเลขประมาณการมูลค่าซอฟต์แวร์เถื่อนทะลุ 212 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ตัวเลขนี้มาจาก ‘บก.ปอศ.’ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งย้ำว่าบริษัทจะมีความผิดถูกจับและปรับ หากเกิดกรณีพนักงานเวิร์กฟอร์มโฮมโดยใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซนส์ทำงานให้บริษัทบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัว

ปีนี้ บก.ปอศ. ยังคงทำงานร่วมกับ ‘บีเอสเอ’ พันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์เช่นเคย โดยสมาคมที่ทำหน้าที่รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โลกซึ่งมีโปรแกรมประชุมทางไกลดาวรุ่งอย่าง ‘ซูม’ (Zoom) เป็นสมาชิกด้วยนั้นประกาศนโยบายปักหลักทำแคมเปญรณรงค์ให้องค์กรกลุ่มวิศวกรรมและการออกแบบ 20,000 รายทั่วอาเซียนเลือกใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาต (ไลเซนส์) ในการพัฒนาถนน สะพาน ท่าเรือ และโครงการเมกะโปรเจกต์ของประเทศ แคมเปญนี้จะสางปมได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะบีเอสเอคาดว่ามีบริษัทด้านวิศวกรรมและการออกแบบกว่า 100,000 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซนส์ในปัจจุบัน

****เน้นเมกะโปรเจกต์

ดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ปีนี้บีเอสเอทำโครงการต่อเนื่องจากปี 62 ซึ่งนำร่องที่ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้ง 4 ประเทศมีโปรเจกต์ก่อสร้างขนาดยักษ์ เช่น ไทยที่มีการลงทุนใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งการก่อสร้างสะพาน สนามบินอู่ตะเภา และอีกหลายพื้นที่ โครงการก่อสร้างเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบในหลายส่วนหากมีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ดังนั้น บีเอสเอจึงทำแคมเปญติดต่อกับบริษัทกว่า 5,000 แห่งในไทย โดยเฉพาะเอกชนที่รับงานจากหน่วยงานรัฐ ให้ออกแบบและประมูลโครงการด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความโปร่งใสในการทำงาน

‘ในช่วงเวิร์กฟอร์มโฮม หลายธุรกิจต้องรีโมตทำงานจากบ้าน จึงจำเป็นต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น จากที่เคยป้องกันได้แบบรวมศูนย์ที่ออฟฟิศ แต่ตอนนี้ไม่มี หากใช้ WiFi ที่ไม่มีการป้องกันก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงถูกแฮก หรือถูกโจมตีได้ รวมถึงความเสี่ยงเรื่องดาวน์ไทม์’ ดรุณ สรุป ‘ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตอาจจะทำให้เครื่องค้าง เกิดความเสียหาย ความสามารถในการทำงานลดลง และเกิดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงด้วย’

บีเอสเอเรียกเรื่องนี้เป็น ‘การระบาดใหญ่บนโลกไซเบอร์’ เพราะภัยโจมตีเป็นประเด็นที่สำคัญในโลกธุรกิจขณะนี้ ทั้งการรั่วไหลของข้อมูล และอาชญากรรมทำให้ธุรกิจอาจหยุดชะงักได้ โดยการสำรวจพบว่าเมื่อโควิด-19 เกิดขึ้น บริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกโจมตีมากขึ้น 168%

บีเอสเอมองว่า ทุกบริษัทจำเป็นจะต้องหาทางออกเอาไว้ ทางแรกคือการทำให้คอมพิวเตอร์ในองค์กรเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์ได้รับอนุญาต เพราะจะทำให้มีการอัปเดตไวรัส และได้รับการปกป้องเต็มที่ ทางที่ 2 คือสร้างความมั่นใจว่าพนักงานจะไม่ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์มาใช้เอง และทางที่ 3 คือต้องตรวจสอบว่ามีซอฟต์แวร์เพียงพอให้พนักงานใช้งาน เนื่องจากหากบริษัทต้องการผลงานที่ดีควรต้องมีเครื่องมือให้ใช้งานทั่วถึง

****จับ-ปรับถี่ขึ้นช่วง WFH

พ.ต.อ.เกรียงศักดิ์ จิตต์สอาด ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองบังคับการปราบปราม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวถึงสถานการณ์การใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซนส์ในเมืองไทยว่า ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 64 เบาะแสการละเมิดเพิ่มขึ้นจาก 183 มาเป็น 197 เบาะแส ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเวิร์กฟอร์มโฮมขององค์กรหลายแห่ง ทำให้มีการตรวจพบการผิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากขึ้น มีการแจ้งเบาะแสมากขึ้น บนจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ยึดได้ก็มีมากขึ้น

หากเทียบเฉพาะครึ่งแรกของปี บก.ปอศ. พบคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ 9,694 เครื่อง จากที่เคยจับได้ในปีที่แล้ว 8,239 เครื่อง การละเมิดที่เพิ่มขึ้นส่งให้ตัวเลขประเมินราคาได้ 212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้ว 195 ล้านบาท

ตัวเลขประเมินราคาและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงนั้นต่างกันลิบลับ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนของกลางที่ยึดได้และจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง บก.ปอศ. พบว่าคดีปี 62 มีจำนวน 177 คดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 11 ล้านบาท ขณะที่ปี 63 มีจำนวน 268 คดี ซึ่งมากกว่าปี 62 ถึง 91 คดี แต่มีความเสียหาย 22 ล้านบาท

‘เหตุที่มูลค่าความเสียหายต่างกัน 2 เท่า เนื่องจากโปรแกรมที่ตรวจพบในแต่ละคดีในปี 63 มีหลายโปรแกรมรวมอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน ทำให้การประเมินความเสียหายมีสูงกว่า (คำนวณความเสียหายจากราคาของโปรแกรมที่ตรวจพบในคอมพิวเตอร์) ประกอบกับบริษัทที่เข้าทำการตรวจค้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ปริมาณการผลิตก็มากขึ้น การใช้ซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในบริษัทนั้น คำนวณจากซอฟต์แวร์หลายโปรแกรมไม่ได้คำนวณจากจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตรวจพบ’

บก.ปอศ. พบว่าส่วนที่ละเมิดมากที่สุดคือซอฟต์แวร์ออกแบบและเขียนแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เบื้องต้นพบว่ากิจการไทยมีการละเมิดมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมออกแบบตกแต่งภายใน และค้าปลีก

‘เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจขาลงไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการละเมิดมากขึ้น อาจจะมีผลส่วนหนึ่งแต่บริษัทยังมีวิธีการอื่นที่จะทำได้ อาจจะโหลดมาใช้งานฟรีแบบชั่วคราว เศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาแต่อาจเป็นเรื่องเฉพาะตัวของหน่วยงานนั้นที่ไม่มีการประสานงานที่ถูกต้องตามขั้นตอนที่ควรทำ’

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ประชาชนคนไทยทำงานจากบ้าน บก.ปอศ.ย้ำว่า ภาวะนี้ไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการสืบสวนเรื่องซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด เบื้องต้น มีการปรับเป็นการไม่เน้นรายย่อย และคัดเลือกเฉพาะองค์กรใหญ่ที่มีมูลค่าการละเมิดสูง โดยขั้นตอนการสืบสวนยังเหมือนเดิมและไม่น้อยกว่าที่เคยปฏิบัติมา

เมื่อการทำงานจากบ้านทำให้ บก.ปอศ. ได้รับแจ้งเบาะแสซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์ในองค์กรมากขึ้น ผู้กำกับ บก.ปอศ.ย้ำว่า การใช้คอมพ์ส่วนตัวที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์เพื่อทำงานให้บริษัทจะถือเป็นความผิดของบริษัท เนื่องจากบริษัทต้องเข้มงวดกวดขัน และต้องรับผิดชอบการกระทำของพนักงาน ดังนั้น บริษัทไม่ควรปล่อยให้พนักงานดาวน์โหลด ‘อะไรก็ได้’ มาใช้งาน

‘เวิร์กฟอร์มโฮมจะยังอยู่กับสังคมไปอีกนาน ดังนั้น บริษัทต้องแน่ใจว่าพนักงานใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์’

น่าเสียดายที่ภาพรวมมูลค่าความเสียหายสำหรับปี 64 นั้นยังประเมินไม่ได้ จุดนี้ บก.ปอศ. ให้เหตุผลว่ายังต้องขึ้นอยู่กับคดี และมูลค่าความเสียหายนั้นเกิดจากการคำนวณหลายปัจจัย ไม่ได้คำนวณจากจำนวนเครื่องแต่อยู่ที่มูลค่าของโปรแกรม ดังนั้น จึงต้องรอลุ้นต่อไปว่าตัวเลขซอฟต์แวร์เถื่อนที่จับและปรับกันถี่ขึ้นทั่วไทยช่วงเวิร์กฟอร์มโฮมนั้นจะมีมูลค่าความเสียหายมากขึ้นหรือลดลงในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดหนักเช่นนี้

Leave a Comment