กล้าล็อกก็กล้าเลิก? ผ่ามุมมองต่อยาแรง 'ล็อกบัญชีเฟซบุ๊ก' เพื่อดันให้ทุกคนเปิด ​​Facebook Protect

ชัดเจนแล้วว่าเฟซบุ๊ก (Facebook) นั้นกล้าล็อกบัญชีผู้ใช้ทุกคน แต่ผู้ใช้ทุกคนไม่กล้าเลิกใช้เพราะสังคม การงาน การเรียน และความทรงจำอีกหลายอย่างถูกผูกติดแน่นอยู่บนแพลตฟอร์ม ใครที่รู้สึกแบบนี้แล้วต้องการแก้ปัญหาบัญชีของผู้ใช้ถูกล็อก จะต้องทำตามขั้นตอนเปิดใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่กำหนดไว้ เพื่อให้มีสิทธิใช้งานต่อได้ตามปกติ

นี่คือยาแรงล่าสุดเพื่อกวาดต้อนให้ทุกคนต้องเปิดใช้งานระบบเฟซบุ๊กโพรเทกต์ (​​ฃFacebook Protect) ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์กยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กได้ส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้หลายประเทศทั่วโลกว่า ทุกคนจะต้องเปิดใช้งานฟีเจอร์ Facebook Protect โดยมีการให้เวลา 15 วันในการดำเนินการ ซึ่งเวลานี้ได้พ้นช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ทำให้ผู้ใช้บางส่วนถูกล็อกออกจากบัญชี และเห็นแต่หน้าจอดำจนกว่าจะเปิดใช้งานคุณสมบัติความปลอดภัย

ทำไมเฟซบุ๊กถึงกล้าใช้ยาแรงขนาดนี้ และไม่มีความกลัวว่ายานี้จะเป็นภัยย้อนไปหาตัวเอง คำตอบคือเฟซบุ๊กเชื่อมั่นเต็มหัวใจว่า วิธีนี้จะไม่ทำให้ผู้ใช้ลดลง เพราะผู้ใช้จะต้องยอมทำตามข้อกำหนดทุกข้อ เพื่อให้สามารถใช้งานตามปกติได้อย่างแน่นอน

ทุกอย่างเพื่อทุกคน

กำหนดเส้นตายในการเปิดใช้งาน Facebook Protect ที่ถูกขีดไว้คือวันที่ 12 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา มีรายงานมากมายที่ย้ำว่า Facebook Protect เป็นบริการที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้ใช้ โดยเฉพาะนักข่าว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงบุคคลสาธารณะอื่นๆ จากแฮกเกอร์หรือภัยคุกคามด้านความปลอดภัยอื่นๆ

ขั้นตอนง่ายๆ ในการเปิดใช้งาน Facebook Protect เริ่มที่คลิกแถบเมนู (ไอคอนสามเส้น) และเลือก "การตั้งค่า" จากนั้นเลือกที่ "รหัสผ่านและความปลอดภัย" แล้วเลือก "ป้องกัน Facebook" หรือ Facebook Protect เมื่อกด "ถัดไป" ราว 2 ครั้งจะมีปุ่ม "แก้ไขทันที" เมื่อคลิกจะปรากฏข้อความบนหน้าเว็บว่า "เราได้ตรวจสอบช่องโหว่ในบัญชีของคุณแล้ว "จากนั้นให้กดปุ่ม "เปิด" เพื่อเปิดการตรวจสอบสิทธิแบบสองปัจจัยหรือ two-factor authentication

ฟังก์ชันยืนยันตัวตน 2 ชั้น สามารถเลือกได้ 3 รูปแบบคือแอปยืนยันตัวตน (Authentication app) ข้อความ SMS (Text message (SMS) และคีย์รักษาความปลอดภัย (Security key) หากทำขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทุกช่องจะขึ้นเครื่องหมายถูกสีเขียว หรือมีข้อความแจ้งว่า "Your Facebook Protect is on"

ผู้ใช้ที่ไม่ได้รับข้อความแจ้งให้เปิดใช้งาน Facebook Protect สามารถไปที่ “การตั้งค่าและความเป็นส่วนตัว” บนแอปเฟซบุ๊กของตัวเอง แล้วแตะที่การตั้งค่า เลือกรหัสผ่านและความปลอดภัย แล้วแตะที่ Facebook Protect ซึ่งอาจจะปิดการทำงานอยู่

ความเคลื่อนไหวเรื่อง Facebook Protect นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการตีพิมพ์รายงานของสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ ที่มีชื่อเรื่องว่า “Leaving Facebook? Easier said than done.” เพื่อบอกเล่าเรื่องราว “พูดง่ายกว่าทำ” ของผู้คนที่ไม่อาจเลือกใช้งานเฟซบุ๊กได้เหมือนอย่างที่ตั้งใจ ในบทความมีการเล่าเรื่องชาวอเมริกันที่หยุดใช้บริการตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 แต่บางส่วนของกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานที่อยากจะรำลึกภาพความหลังช่วงเรียน จึงจำเป็นต้องกลับมาลงชื่อใช้งานระบบอีกครั้ง ยังมีกลุ่มที่มองว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือช่วยเตือนความจำถึงวันเกิด เหตุการณ์สำคัญในชีวิต ซึ่งทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์กระอักกระอ่วนเมื่อทักทายเพื่อนว่า “เป็นไงมั่งเพื่อน” แล้วเพื่อนตอบว่า “เรื่อยๆ นะ พอดีพ่อฉันเพิ่งเสียชีวิตน่ะ”

ทั้งเรียน ทั้งทำงาน ทำให้เลิกใช้ไม่ได้

สำหรับเมืองไทย การเรียนการสอนออนไลน์ของบางโรงเรียนยังผูกติดกับการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ ขณะที่คนทำงานยังต้องใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการสื่อสารหลัก ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการล็อกบัญชีเพื่อผลักดันให้ผู้ใช้เปิดใช้งาน Facebook Protect จะไม่ทำให้เกิดมหกรรมเลิกใช้งาน แต่จะเป็นยาแรงที่เพิ่มจำนวนผู้เปิดใช้งานได้อย่างก้าวกระโดดและได้ผล

ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ตีพิมพ์บทความสัมภาษณ์นิก เคลก (Nick Clegg) หัวหน้าฝ่ายกิจการระดับโลกของบริษัท Facebook Inc ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรีแบรนด์เป็นชื่อเมต้า (Meta) โดยผู้บริหารเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทกำลังเร่งทำงานเพื่อหาวิธีการปกป้องผู้ใช้ในเมตาเวิร์ส (metaverse) ยุคใหม่ของการใช้อินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้จะไม่ถูกกั้นด้วยหน้าจอ แต่สามารถรับประสบการณ์สมจริง 3 มิติผ่านอุปกรณ์ล้ำสมัยที่จะออกสู่ตลาดในอนาคต

ไม่แน่ การล็อกบัญชีเพื่อต้อนให้ผู้ใช้เปิดระบบรักษาความปลอดภัย อาจเป็นส่วนหนึ่งของก้าวแรกในการเตรียมที่ผู้บริหารกล่าวถึง ซึ่งเป็นการยืนยันความชอบธรรมของเฟซบุ๊กในการตัดสินใจใช้ยาแรงครั้งนี้ แม้จะมีการเสนอโฆษณาที่ "มีความเกี่ยวข้องมากขึ้น" ให้ผู้ใช้ที่มอบหมายเลขโทรศัพท์สำหรับยืนยันตัวทาง SMS ก็ตาม

Leave a Comment