ช้าไปอาจไม่ทัน! โลกดิจิทัลต้องเร่งลดคาร์บอน!! (Cyber Weekend)

เปิดวิสัยทัศน์ ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ (Schneider Electric) แบรนด์ใหญ่อุปกรณ์และระบบพลังงานไฟฟ้าสัญชาติฝรั่งเศสที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกบริษัทดำเนินการเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยย้ำว่าในปัจจุบันที่บริษัทน้อยใหญ่ล้วนต้องลงทุนระบบดิจิทัล ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางขจัดคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจโลกให้รวดเร็วทันท่วงที ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป

แนวคิดนี้ถูกจุดประกายบนเวทีงาน Innovation Summit World Tour 2021 ซึ่งชไนเดอร์ อิเล็คทริค โฟกัสเนื้อหางานไปที่การลดคาร์บอน หรือที่บริษัทเรียกว่า ‘เส้นทาง Net Zero’ บนเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนให้ได้เหลือ 0 ภายใน 30 ปีข้างหน้าหรือปี 2050

สิ่งที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทำคือ การขยายบริการด้านการให้คำปรึกษา ผลักดันให้บริษัททั่วโลกดำเนินการเพื่อความยั่งยืนได้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน มีการเปิดตัวระบบพลังงานไฟฟ้าสีเขียวแบบอัจฉริยะ และระบบออโตเมชันรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กระบวนการลดคาร์บอนเกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแบบจับต้องได้

***ไม่เร่งอาจไม่ทันการณ์

คำเรียกร้องให้บริษัททั่วโลกเลิกหวานเย็น แล้วหันมาลงทุนลงแรง-เร่งมือลดคาร์บอนให้ได้เร็วขึ้น ‘3-5 เท่าตัว’ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 50% ภายใน 9-10 ปีนับจากนี้ (ปี 2030) โดยชไนเดอร์เชื่อว่าระบบไฟฟ้าอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และระบบอัตโนมัติยุคใหม่จะเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจชไนเดอร์ ในฐานะบริษัทผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันด้านการจัดการพลังงานและระบบออโตเมชันที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรซึ่งมีความยั่งยืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2564

ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของชไนเดอร์ ประกาศวิสัยทัศน์พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล เพื่อยกระดับความยั่งยืนของทุกบริษัท โดยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้มาตรการสำคัญในการกำจัดคาร์บอน ข้อมูลที่หยิบมาสนับสนุนคือ งานวิจัยของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่นำเสนอแนวทางซึ่งสามารถลดคาร์บอนได้ 10 กิกะตันต่อปี (10GtCO2/y) ได้จริงภายในปี 2030

‘งานวิจัยชิ้นนี้เผยให้เห็นว่าเราต้องเร่งให้เร็วขึ้นอย่างไร สิ่งที่องค์กรต้องการในวันนี้คือพันธมิตรที่เชื่อถือได้ พันธมิตรที่จะผสานรวมทั้งเรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการกำหนดเป้าหมายด้วยการติดตั้งโซลูชันที่ได้รับการพิสูจน์ในเรื่องของประสิทธิภาพมาแล้ว เพื่อมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม’

ผู้บริหารชไนเดอร์ย้ำว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้เร่งขยายธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากที่ชไนเดอร์ได้ประสบความสำเร็จในการนำโซลูชันด้านระบบไฟฟ้าและดิจิทัลระดับโลกมาใช้ในโรงงาน ชไนเดอร์จึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะช่วยให้ผู้อื่นดำเนินการได้เร็วยิ่งขึ้นและไปได้ไกลขึ้น

งานวิจัยที่ถูกยกเป็นพิมพ์เขียวสู่เป้าหมายในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส มีการลงรายละเอียดถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30-50% ภายในช่วงทศวรรษนี้ เพราะหากพลาดช่วงระยะเวลานี้ไปจะเป็นเรื่องยากมากที่จะจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิให้อยู่ที่ระดับ 1.5°C ตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel for Climate Change หรือ IPCC) ได้กำหนดกรอบไว้

ในรายงานนี้ ชไนเดอร์ระบุว่า การจะลดคาร์บอนให้ได้ 10 กิกะตันต่อปีภายในปี 2030 จะต้องเน้นที่องค์ประกอบย่อยของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกซึ่งปัจจุบันมีสถิติอยู่ที่ 50 กิกะตันต่อปี (เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน 30 กิกะตัน และอีก 20 กิกะตันที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน) จากการจำลองสถานการณ์ พบว่าหากทำได้ในปี 2030 โลกจะมีโอกาสลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30%

ดังนั้น ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงไม่เพียงเรียกร้องให้ทุกคนเข้าใจถึงความจำเป็น แต่ยังขอให้รัฐบาลและองค์กรต่างๆ พยายามมากขึ้นอีก 3-5 เท่า โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องระบบพลังงาน ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้เกิดความสำเร็จและเป็นจริงได้

ชไนเดอร์ย้ำว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมาปรับใช้ ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการขจัดคาร์บอนในอาคาร การขนส่ง และอุตสาหกรรม แนวทางนี้นับเป็นการซื้อเวลาเพื่อจัดการกับภาคส่วนที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างยาก ซึ่งดีกว่าทางเลือกอื่นที่อาจจะสร้างภาระให้ผู้บริโภคจำนวนมาก

***พาเหรดสินค้าใหม่ลดคาร์บอน

ในงานประชุมนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับทำตลาดโดยต่อยอดจากความสำเร็จในการดำเนินการเรื่องลดคาร์บอนมาเป็นเวลานับ 10 ปี โดยนวัตกรรมแรกที่ช่วยลดคาร์บอนภายในบ้าน ในอาคาร ในดาต้าเซ็นเตอร์ ในโครงข่ายพลังงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ คือ ไฟฟ้า 4.0

ด้วยระบบไฟฟ้า 4.0 ชไนเดอร์เชื่อว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโลกไฟฟ้าใบใหม่ด้วยพลังงานสีเขียวอัจฉริยะ เนื่องจากวันนี้ โลกเรากำลังเห็นการหลอมรวมของดิจิทัลและไฟฟ้าด้วยซอฟต์แวร์ โดยไฟฟ้าทำให้พลังงานเป็นสีเขียวและเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการลดคาร์บอน ดังนั้น ดิจิทัลทำให้พลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพและขจัดของเสียได้อย่างชาญฉลาด การหลอมรวมดังกล่าวทำให้เกิด ‘ไฟฟ้า 4.0’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโลกไฟฟ้าใบใหม่

ชไนเดอร์ยังแจ้งเกิดโซลูชันบ้านอัจฉริยะที่ให้ความยั่งยืน และช่วยจัดการกับพลังงานที่เสียไป โซลูชันนี้จะตอบโจทย์แนวโน้มที่ชี้ว่าภายในปี 2050 คาดว่าภาคครัวเรือนจะเป็นภาคที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด และเป็นภาคที่มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงสุดเช่นกัน คาดว่าน่าจะสูงถึง 34% ทีเดียว

ยังมีโซลูชัน Resilient Digital Grids ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีปลอดก๊าซ SF6 เพื่ออากาศบริสุทธิ์ ซึ่งจะเสริมกับ Smart Electrical Distribution ผลิตภัณฑ์ระบบดิจิทัล TeSys Giga ที่ปรับปรุงโฉมใหม่ ให้แรงดันไฟฟ้าต่ำ มอบประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายขึ้น ให้ความยั่งยืน และปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้ติดตั้งและคู่ค้าด้านการบริการ ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตของโลก

ในส่วนบริการ ชไนเดอร์ต้องการขยายจากการให้บริการซอฟต์แวร์และบริการด้านคำปรึกษาแก่บริษัทใน Fortune 500 มากกว่า 30% ทั้ง Johnson & Johnson, Walmart, Faurecia, Kellogg, Takeda, Velux Group, Unilever และ T-Mobile จุดนี้บริษัทเชื่อว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชไนเดอร์ต้องขยายบริการให้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือบริการให้คำปรึกษาในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และการลดคาร์บอนในซัปพลายเชนที่เกี่ยวข้อง บริการด้านการสื่อสาร ซึ่งรวมถึงการรายงาน/การประเมินด้าน ESG หรือการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนด้าน Environment, Social และ Governance และโมดูล ESG สำหรับแพลตฟอร์ม EcoStruxure Resource Advisor ที่ได้รับรางวัลเพื่อใช้ในการติดตามมาตรการด้านสังคมและการกำกับดูแล

สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ชไนเดอร์ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นในเรื่องประสิทธิภาพและความคล่องตัว มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับการสนับสนุนจากระบบวิเคราะห์ขั้นสูง และซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมที่ทำงานร่วมกันได้โดยไม่เลือกค่ายผู้จำหน่าย โซลูชันเด่นคือ EcoStruxure Automation Expert 21.2 ให้การบริหารจัดการครบวงจรสำหรับโรงงานน้ำและโรงงานบำบัดน้ำเสีย ด้วยระบบอัตโนมัติแรกของโลกที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นศูนย์กลางในการจัดการ รวมถึง EcoStruxure Machine ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรและลดเวลาในการพัฒนา ลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนสูงสุด 40% และช่วยให้การติดตั้งและทดสอบเครื่องจักรทำได้เร็วขึ้น 50%

ในภาพรวม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ย้ำว่าเป้าหมายของบริษัทคือการช่วยให้ทุกคนใช้พลังงานและทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางภารกิจหลักคือการเป็นพันธมิตรด้านดิจิทัล เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความยั่งยืน

สำหรับงาน Innovation Summit World Tour 2021 เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 64 และจะจัดแสดงแนวคิดไฟฟ้า 4.0 เช่นเดียวกับระบบอัตโนมัติยุคหน้า และความก้าวหน้าอื่นที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริคเชื่อว่า จะช่วยให้โลกดิจิทัลสามารถเร่งมือลดคาร์บอนได้ในที่สุด

Leave a Comment