โควิด -19 กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการยกระดับองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลเร็วขึ้น 18-40 เท่า อีกทั้งยังพบว่าองค์กรที่ใช้ดิจิทัลช่วยในการทำงานจะมีการเติบโตในแง่ของรายได้มากกว่าองค์กรที่ไม่ก้าวสู่ดิจิทัล วันนี้ ‘เอไอเอส’ พร้อมอาสาชูจุดเด่นผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคมผสานความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ด้านไอทีชั้นนำปั้นโซลูชันช่วยองค์กรทุกระดับทรานส์ฟอร์เมชันสู่ดิจิทัลให้เร็วขึ้น
***โควิด-19 ดันองค์กรปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น 18 เท่า
“ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย” หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวด้วยการนำดิจิทัลมาทรานส์ฟอร์มองค์กรของตนเอง เพื่อให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น จึงพบว่าองค์กรมีการปรับตัวไปสู่องค์กรดิจิทัลมากถึง 18-40 เท่า จากการทำงานแบบเดิม และยังพบว่าบริษัทที่อยู่ในท็อปเท็นที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัลสามารถสร้างการเจริญเติบโตของรายได้มากถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้วางแผนไปสู่ดิจิทัล
แม้ว่าจากผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีดิจิทัลลีดเดอร์เพียง 3% เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มี 5% แต่ประเทศไทยก็โชคดีตรงที่มีสัดส่วนของบริษัทที่ไม่มีแผนการนำดิจิทัลมาปรับปรุงในองค์กรเพียง 5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มีสัดส่วน 9% เพราะประเทศไทยกำลังทำยูสเคส กำลังแอปพลายเทคโนโลยี เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศดิจิทัล
“วันนี้บริบททั่วโลกต่างเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2563 คือการรับมือในภาวะฉุกเฉินและเรียนรู้เพื่อพร้อมสู่การปรับตัว เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันจนถึงจบไตรมาสแรกของปี 2564 ได้ยืนยันแล้วว่า โควิด-19 กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริบทรอบตัวเราไปแล้ว ซึ่งส่งผลทำให้โลกออนไลน์และดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย แบบแยกจากกันไม่ได้ไปแล้ว โดยในส่วนขององค์กรธุรกิจต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องยกระดับจาก Physical สู่ Digital ที่เข้ามาทรานส์ฟอร์มกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนมากขึ้น รวมถึงสร้าง New Business Model เพื่อตอบสนอง Lifestyle แบบ Work From Home ของคนทั่วโลก พร้อมทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อได้โดยไม่สะดุด แม้จะอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19”
นอกจากนี้ ยังพบว่าองค์กรส่วนใหญ่ต่างมีการปรับตัวนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นสาระสำคัญ โดย 38.6% สร้างช่องทางการขายออนไลน์ และ 79.3% พร้อมรับชำระเงินทางออนไลน์ รวมทั้งยังพบว่า ในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ที่แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นนั้น องค์กรต่างๆ ได้สร้าง Online Channel มากขึ้นเป็นอันดับ 1 ถึง 57.1% ทั้งนี้ ในส่วนของเอสเอ็มอีต่างปรับตัวอย่างชัดเจนขึ้นใน 4 ด้านคือ เพิ่มการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์ เพิ่มนวัตกรรมในองค์กร เพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ เพื่อปรับโครงสร้างต้นทุน
***ผสานจุดเด่นด้านเน็ตเวิร์กสร้างโซลูชันดิจิทัล
ดังนั้น AIS Business ในฐานะ Smart Digital Partner ที่องค์กรสามารถเชื่อมั่นได้ (Your Trusted Smart Digital Partner) จึงพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างทุกองค์กร ตั้งแต่เอสเอ็มอี จนถึงองค์กรขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้แต่ละองค์กรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงสามารถทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์รูปแบบของการทำธุรกิจ Social Distancing และ WFH, LFH ได้แบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การเปิดตัว ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมค้าปลีกไปอีกขั้น พร้อมสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงฐานลูกค้าผ่านช่องทาง Online Shopping หรือ Digital Yacht Quarantine ที่ใช้ IoT เข้าไปช่วยปรับ Business Model ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน
ด้วยความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกชั้นนำที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน อย่างบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท ซิตี้มอลล์ กรุ๊ป จำกัด (ดิ เอ็มโพเรียม) บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด(มหาชน) และกลุ่มแบรนด์ไลฟ์สไตล์รีเทลชั้นนำ Loft, Jung Saem Mool, ALAND ร่วมปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมค้าปลีก และยกระดับบริการออนไลน์ของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นกับเวอร์ชวลพรีเมียมชอปปิ้งแพลตฟอร์ม V-Avenue.Co powered by AIS 5G
แหล่งรวมศูนย์การค้าเสมือนจริงแห่งแรกของโลก นำเทคโนโลยีอย่าง Virtual Reality (VR) มาผสานกับโครงข่าย AIS 5G ให้ลูกค้าสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระเสมือนอยู่ในห้างและถนนแห่งการชอปปิ้งจริง ผ่านเว็บไซต์ V-Avenue.Co ที่อำนวยความสะดวก รวดเร็วให้แก่ลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถชอปปิ้งสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำได้อย่างสะดวกเพียงปลายนิ้วสัมผัส สอดรับพฤติกรรมนักช้อปแห่งยุคนิว นอร์มอล ได้คลิกซื้ออย่างปลอดภัย ไม่ต้องเดินทาง
ดังนั้น 10 เทคโนโลยีที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญและพร้อมนำไปใช้ในทุกกระบวนการ จึงประกอบด้วย 5G, IoT, Cloud&EDGE Computing, Extended Reality, AI/Machine Learning, Robotics, Big Data & Analytics, Cyber Security, Robotic Process Automation และ Blockchain ซึ่ง AIS Business มีความพร้อมอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับทุกองค์กร เพื่อให้สามารถเดินหน้าฝ่าวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ไปด้วยกันให้ได้ และก้าวสู่โลกของการทำ Digital Business ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยที่ตั้งแต่เอไอเอสเปิดให้บริการมา เอไอเอสมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีบริการด้านดิจิทัลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเน็ตเวิร์ก 5G ทั้งคลื่น 700 MHz เพื่อให้บริการครอบคลุม กว้างไกล คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz ที่เหมาะกับองค์กรในการสร้างแอปพลิเคชัน 5G ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะทาง สามารถสร้างสรรค์โซลูชัน AR และ VR ตอบโจทย์การทำงานของโรงงานต่างๆ โซลูชัน IoT บริการดาต้า เซ็นเตอร์ โซลูชันไซเบอร์ ซิเคียวริตี ซึ่งมีความจำเป็นต่อองค์กรที่มีการเปิดระบบเป็นดิจิทัลอย่างมาก มีบริการไฟเบอร์ออปติกที่มีความยาวกว่า 1.6 แสนกิโลเมตร นอกจากนี้ ยังพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัปไทยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เอไอเอสไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ประกาศความตั้งใจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ “AIS 5G สู้ภัยโควิด เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย” โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี 5G,4G, Fibre Broadband, Super Wifi สนับสนุนภาคสาธารณสุข ซึ่งมุ่งเน้นขยายการรองรับผู้ติดเชื้อผ่านโรงพยาบาลสนาม โดยล่าสุด เอไอเอสได้เข้าไปร่วมขยายเครือข่ายสื่อสารแล้วกว่า 62 แห่ง มากกว่า 12,770 เตียง ร่วมนำดิจิทัลเซอร์วิสมาประยุกต์ใช้ เช่น AI CT Scan ปอด Telemedicine สนับสนุน Free Data ในการใช้ Application หมอชนะ เคียงข้าง อสม.ผ่าน Application อสม.ออนไลน์
เอไอเอสได้พัฒนาเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยปริมาณคลื่นมากที่สุดและเร็วที่สุด จึงพร้อมนำศักยภาพของเทคโนโลยี 5G และ VR มาต่อยอดสร้างประสบการณ์และประโยชน์ในอุตสาหกรรมค้าปลีก เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์การเข้าถึงสินค้าและบริการ เชื่อมต่อห้างสรรพสินค้าและแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันแบบไร้รอยต่อและเหนือระดับไปอีกขั้น พร้อมมอบสิทธิพิเศษจัดเต็มให้ฐานลูกค้าเอไอเอสกว่า 41.4 ล้านเลขหมาย และคนไทย ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยกระตุ้นและพลิกฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์นี้
สำหรับเอไอเอส ไม่ได้นิ่งนอนใจในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้ลูกค้า เอไอเอสได้ก้าวข้ามความเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมไปสู่การเป็นดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิส โพวายเดอร์ และสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมา พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กร และดีเอ็นเอใหม่ๆ ให้แก่คนในองค์กรด้วย
แน่นอนว่าธุรกิจหลักของเอไอเอสยังเป็นโทรคมนาคม ซึ่งต้องยึดไว้ แต่ก็ต้องสร้างการเติบโตใหม่ๆ เช่น โอกาสของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคนิว นอร์มอล ที่เอไอเอสมีบริการไฟเบอร์ออปติกให้ลูกค้า รวมถึงการช่วยทรานส์ฟอร์มลูกค้าองค์กรไปสู่ดิจิทัลด้วยบริการและโซลูชันที่มี
ที่สำคัญคือการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทชั้นนำต่างๆ ในการสร้างแพลตฟอร์มและโซลูชันร่วมกันเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า เป็นเครื่องมือในการเร่งการทรานส์ฟอร์เมชันให้องค์กรของลูกค้า ขณะเดียวกัน เอไอเอสก็มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ในแง่ของการให้บริการดิจิทัลใหม่ๆ ด้วย
“เอไอเอสต้องมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในอนาคต และต้องทำงานด้วยความสนุก สิ่งเหล่านี้จะถูกสร้างเป็นดีเอ็นเอให้แก่พนักงานของเอไอเอสทุกคน”