น่าตื่นเต้นไม่น้อยที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งแรงผลักดันให้ระบบพลเมืองดิจิทัลรายแรกของโลกอย่างอี-เรสซิเดนซี (e-Residency) ขยายบริการสู่ประเทศไทย ความพิเศษอยู่ที่ผู้ประกอบการออนไลน์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ทำงานนอกออฟฟิศ (Digital nomads) ในไทยจะมีโอกาสที่ดีและสามารถรับบัตรพลเมืองดิจิทัลได้ที่สำนักงานในกรุงเทพฯ
e-Residency นั้นเป็นบริการที่เปิดให้คนทั่วโลกสมัครเป็น "พลเมืองดิจิทัล" ของประเทศเอสโตเนีย โดยไม่ต้องย้ายมาเอสโตเนียหรือแต่งงานกับใคร การได้รับความเห็นชอบให้เป็นพลเมืองดิจิทัลจะทำให้บุคคลนั้นสามารถจัดตั้งบริษัทในเอสโตเนียได้เหมือนพลเมืองในประเทศ และสามารถขยายธุรกิจไปสู่ประเทศกลุ่มยุโรปได้สะดวกกว่าเดิม
นัยสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การประกาศให้ กทม. เป็นจุดให้บริการรับเอกสารยืนยันตัว (pick-up point) แห่งใหม่เท่านั้น แต่ประเด็นใหญ่นั้นอยู่ที่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการภายในประเทศในการขยายธุรกิจในระดับนานาชาติ รวมไปถึงการเข้าถึงตลาดในแถบยุโรป
ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของรัฐบาลประเทศเอสโตเนีย ที่เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้ง e-Residency ซึ่งถือเป็นสตาร์ทอัปผู้ให้บริการระบบพลเมืองดิจิทัลรายแรก โดยประเทศไทยถูกเลือกเป็น 1 ใน 4 จากประเทศทั่วโลก เพื่อตอบสนองดีมานด์ระบบพลเมืองดิจิทัล ซึ่งผู้สมัครไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่เอสโตเนียเลย
*** ช่วยได้เรื่องล็อกดาวน์
ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของเอสโตเนีย ประจำกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า การเปิดตัวในครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศไทย เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บังคับให้หลากหลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การเลือกใช้บริการ e-Residency จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกอบการที่กำลังมองหาแนวทางขยายธุรกิจไปยังยุโรป ให้สามารถติดต่อสื่อสารกับพันธมิตรในยุโรปได้ง่ายขึ้นจากที่ใดก็ได้บนโลก ในช่วงที่น่านฟ้ายังคงถูกล็อกดาวน์
‘เอสโตเนีย เป็นประเทศที่มีประชากรไม่มาก แต่เดิมเป็นประเทศเล็กที่มีกลุ่มโซเวียตเก่าหัวรุนแรงอยู่ค่อนข้างมาก แต่สามารถพัฒนาให้ประเทศมีจุดยืนด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาเชิงสังคมที่เด่นชัด ซึ่งเป็นผลจากวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีเคร์สตี คัลยูไลด์ ที่ต้องการพลิกให้เอสโตเนียเป็นสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ รัฐบาลเอสโตเนียจึงส่งเสริมสตาร์ทอัปในประเทศจนมีหลายบริการที่สามารถสร้างชื่อในระดับโลกและพร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้นได้อย่างภาคภูมิ ตัวอย่างเช่น Skype ที่มีจุดเริ่มต้นที่เอสโตเนีย’
สำหรับในปัจจุบันที่ผู้คนต้องทำงานโดยไม่ยึดติดกับสถานที่ e-Residency จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถรองรับการทำงานได้ เพราะหลังจากลงทะเบียนเป็นพลเมืองดิจิทัลหรือ e-Resident เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะได้รับบัตรยืนยันตัวตนดิจิทัลที่อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทในสหภาพยุโรปได้อย่างอิสระ สามารถบริหารธุรกิจจากที่ใดก็ได้
ที่สำคัญ สมาชิกที่ได้รับการยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องแล้วจะสามารถเข้าถึงช่องทางบริการ e-service ต่างๆ ของเอสโตเนียได้ เช่น การบริการที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ และการเปิดตัวและดำเนินธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ 100% ในสหภาพยุโรป
*** เครือข่ายใหญ่ Digital Nomads
ปัจจัยที่ทำให้ e-Residency เดินหน้าขยายจุดให้บริการรับเอกสารยืนยันตัวตน ‘Pick-up point’ ใหม่ในประเทศไทย บราซิล สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้ รวมถึงให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบัตร e-Residency ได้ที่ 50 จุดบริการใกล้เคียงที่มีอยู่ทั่วโลก คือ จำนวนผู้สมัครที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ชัด จน e-Residency มีฐานะเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายใหญ่ที่แข็งแกร่งของ Digital Nomads ในนาทีนี้
วันนี้ e-Residency มีสมาชิกเป็นคนทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศ 80,000 ราย การประกาศเปิดตัวจุดให้บริการใหม่ในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการพยายามเข้าถึงผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องการลดอุปสรรคในการก่อตั้งบริษัทในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานโดยไม่ต้องผ่านระบบราชการต่างๆ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจจากที่ใดก็ได้
ลอรี ฮาฟ (Lauri Haav) กรรมการผู้จัดการของ e-Residency อธิบายว่า e-Residency ขยายบริการมาที่ประเทศไทยเพราะสามารถช่วยคนไทยที่ต้องการทำธุรกิจในยุโรป ให้สามารถทำงานกับคู่ค้าในยุโรปได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยตอบโจทย์ผู้คนในประเทศต่างๆ ที่อยากอาศัยในไทย แต่ก็ต้องการทำธุรกิจกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ในจำนวนผู้ถืออัตลักษณ์ดิจิทัลกับ e-Residency 80,000 ราย เป็นผู้อาศัยใน 170 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้ทำการเปิดบริษัทไปแล้วกว่า 17,000 แห่ง โดยมีพนักงานกว่า 2,000 คน ถูกจ้างงานจากพลเมืองดิจิทัลเหล่านี้ เบื้องต้น พบว่าบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าการซื้อขายราว 3.68 พันล้านยูโร (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2021)
*** ไทยเหมาะสม
ลอรี ระบุว่า ประเทศไทยเป็นจุดที่ตั้งที่มีโอกาสที่ดีมากในภูมิภาค เพราะไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ขณะเดียวกัน สนามบินของไทยยังติด 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนอยากมาอาศัยอยู่ สามารถใช้ชีวิตและสามารถนำธุรกิจไปดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับเป้าหมายของ e-Residency ในปีนี้ ผู้บริหารระบุว่า มองเห็นโอกาสในศักยภาพของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการขยายจุดบริการทำไปเพื่อเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่นและนักธุรกิจต่างชาติที่ทำงานโดยไม่ยึดติดกับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งและอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย e-Residency และการจดทะเบียนบริษัทกับประเทศเอสโตเนีย ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจะสามารถซื้อสินค้าและบริการด้านดิจิทัลหลายด้าน ทั้งบริการด้านที่ปรึกษา บริการด้านการตลาด บริการในด้านซอฟต์แวร์ (SaaS0) บริการด้านโปรแกรมมิ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย
‘บริการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ถือบัตร e-Residents สามารถอาศัยและทำงานได้สะดวกมากขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม และเรายังตั้งใจที่ศึกษาค้นคว้าโอกาสใหม่ๆ รวมถึงกรณีศึกษาต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายฐานลูกค้าและส่งสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาขายในกลุ่มสหภาพศุลการกรของยุโรป นอกจากนี้ ยังมีโอกาสดีๆ อีกมากมายสำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัปในแต่ละประเทศที่จะได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนกับผู้ก่อตั้ง และทีมงานที่มีความสามารถรวมถึงที่ปรึกษาสตาร์ทอัปแบบครบวงจรที่เอื้อต่อธุรกิจสตาร์ทอัปได้ในประเทศเอสโตเนีย’
*** ไม่เกี่ยวกับวีซ่าและภาษี
แม้ว่านับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2014 บริการ e-Residency ถูกบันทึกว่าสามารถสร้างรายได้ขาเข้าให้แก่รัฐบาลเอสโตเนียถึง 54 ล้านยูโร แต่ผู้บริหาร e-Residency ยืนยันว่าเอสโตเนียเป็นประเทศที่จะกำหนดให้จ่ายภาษีเมื่อบริษัทมีกำไรเท่านั้น ขณะเดียวกัน จุดประสงค์ของ e-Residency ที่เน้นให้คนที่ได้รับความเห็นชอบสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของเอสโตเนียบนแพลตฟอร์มของเอสโตเนียทั้งหมดโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ประเทศเอสโตเนียนั้น ทำให้การรับอัตลักษณ์ดิจิทัลนี้ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้เป็นสมาชิก e-Residency จึงไม่ได้มีสิทธิพิเศษต่อการได้วีซ่าหรือไม่ได้วีซ่าเข้า EU
"สถานะบริษัทที่จัดตั้งภายใต้ e-Residency จะได้รับความไว้วางใจมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองภายนอก สถานะของบริษัทจะเท่าเทียมกัน แต่ในแง่ของบริษัทที่จดทะเบียนกับเอสโตเนีย ก็จะมีเครดิตเหมือนบริษัทอื่นที่จดในเอสโตเนียทั้งหมด"
สำหรับผู้ที่อยากเป็นพลเมือง และต้องการมีถิ่นพำนักในเอสโตเนีย โดยตลอด 6 ปีที่ดำเนินการมา ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม e-Residency มักเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งรัสเซีย ยูเครน ฟินแลนด์ ซึ่งระยะหลังมีประเทศจีนมากขึ้น สำหรับจำนวนผู้ถือบัตรในประเทศไทยขณะนี้มีประมาณ 135 คน ใกล้เคียงกับมาเลเซียและเวียดนามที่มีรวมกันราว 130-140 คนขณะที่สิงคโปร์มีมากกว่าคือ 300 คน และคาดว่าจะเป็นแนวโน้มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอีกในอาเซียน
***คัดกรองธุรกิจผิดกฎหมาย
ผู้บริหาร e-Residency ย้ำว่า เมื่อผู้สมัครทำการส่งแบบลงทะเบียน e-Residency เรียบร้อยแล้ว ใบลงทะเบียนจะถูกตรวจสอบโดยตำรวจและฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของเอสโตรเนีย ซึ่งการตรวจสอบประวัติดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันบุคคลที่มีประวัติฉ้อโกงหรือประวัติอาชญากรรมอื่นๆ ที่เข้ามายื่นขอรับรองการเป็น e-Resident ของประเทศเอสโตเนีย
อย่างไรก็ตาม เอสโตเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้างที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องด้วยกฎระเบียบ และ ข้อกำหนดต่างๆ ที่ส่งเสริมให้มั่นใจได้ว่า บริษัทจากเอสโตเนีย ได้รับการตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อดำเนินการอย่างโปร่งใส ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะช่วยเสริมความปลอดภัยขององค์กร สร้างความน่าเชื่อถือในกลุ่มผู้ถือหุ้น อีกทั้งช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ธุรกิจในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น การบริการด้านธุรกรรมการเงิน และองค์กรที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ถูกจัดให้อยู่ภายใต้ระบบการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน ทางเอสโตเนียได้ให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัย พลเมืองดิจิทัลทุกคน ทั้งชาวเอสโตเนีย และกลุ่ม e-Resident ล้วนเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง หน่วยงานรัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบการประมวลและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด คำมั่นสัญญาของรัฐบาลเอสโตเนียสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้ง พลเมือง ผู้อยู่อาศัย และพลเมืองดิจิทัล ให้เชื่อในความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานและสถาบันด้านดิจิทัล
สำหรับค่าสมัครของ e-Residency เริ่มต้นที่ 100 ยูโร (3,770 บาท) โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่รับบัตร digital id ตามศูนย์บริการนอกประเทศเอสโตเนีย สำหรับศูนย์บริการที่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเข้ารับเอกสารอยู่ที่ 16.05 ยูโร (605 บาท) และค่าสมัครสำหรับผู้ที่รับเอกสารที่ศูนย์บริการที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 116.05 ยูโร (4,375 บาท)