ปรากฏการณ์ True ดึงศักยภาพ 5G เพื่อความบันเทิง-การแพทย์ (Cyber Weekend)

ภาพของการยกระดับบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยเครือข่าย 5G ของกลุ่มทรู เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีแพลตฟอร์ม และบริการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานร่วมกับ 5G โดยเฉพาะ ทั้งในแง่ของการตอบสนองไลฟ์สไตล์เพื่อความบันเทิง จนถึงการนำไปใช้งานบริการทางการแพทย์ให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

​โดยที่ผ่านมา True ได้มีการประยุกต์นำ 5G เข้าไปใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงประสบการณ์ 5G ผ่านคอนเทนต์ในลักษณะของ Virtual Reality จากการลงทุนสร้าง True 5G XR Studio เพื่อแสดงให้เห็นมิติของการนำ 5G มาใช้เพื่อความบันเทิง

จนล่าสุดได้เข้าไปผนึกพันธมิตรร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลกจากสหรัฐฯ อย่าง Nonvoice Alive ที่รวบรวมแอปฯ 5G AR มาให้ได้ใช้งานกันที่แรกที่เดียวในประเทศไทย เสริมประสบการณ์ในการเข้าใช้งาน AR เสมือนจริง รวมถึงการเข้าไปจับมือกับทางเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (แกล็กโซสมิทไคล์น : จีเอสเค) นำโครงการ ‘Telehealth Together’ ผ่านแพลตฟอร์มสุขภาพอัจฉริยะ ‘ทรู เฮลท์’ มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยดูแลผู้ป่วย ช่วยยกระดับชีวิต และบริการสาธารณสุขในวิถีชีวิตใหม่แก่สังคม

​พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มทรู ต้องการนำเสนอปรากฏการณ์ 5G ให้ลูกค้าได้เข้าถึงผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและมาแน่นอนคือ AR (Augmented Reality) ที่ผู้บริโภคทั่วไป และในภาคอุตสาหกรรมจะได้นำไปปรับใช้งานกันแน่นอน

​‘ปัจจัยที่จะทำให้ 5G เกิดการใช้งานมากขึ้นในไทยอย่างแพร่หลาย คือ มีเซอร์วิส หรือบริการที่ทำให้เกิดการใช้งานจริงหรือไม่ อย่างการพยายามผลักดันประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่ง 5G จะมีส่วนอย่างมาก ในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดนำไปใช้งาน’

​เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่าง AR ได้สะดวกขึ้น กลุ่มทรู จึงได้เข้าไปร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน 5G และ AR เสมือนจริงชั้นนำของโลก Nonvoice Alive นำบริการ ‘True 5G Innovative Cloud AR with Nonvoice Alive’ มาเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้สัมผัสโลกเสมือนจริงครอบคลุมทุกความต้องการ โดยภายในบริการดังกล่าวจะมีทั้งแอปพลิเคชันส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนไทย รวมถึงแอปพลิเคชันเกมมือถือที่หลากหลายทั้งแนว FPS (First Person Shooter) หรือ AR Sport Game จนถึงการสร้างการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต

​ที่น่าสนใจ และเข้ากับยุคดิจิทัลในปัจจุบันคือ ภายในแพลตฟอร์มนี้ยังมีพื้นที่เปิดให้นักลงทุนได้เข้ามาเก็บสะสมสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) ด้วย GFT Exchange ตลาดดิจิทัลที่เปิดให้ศิลปิน บริษัทภาพยนต์ นักดนตรี และครีเอเตอร์ เข้ามาพัฒนาและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล

​นอกจากนี้ ยังเปิดประสบการณ์ใช้งาน 5G สำหรับการเล่นเกมในลักษณะของ Social Gaming ที่เชื่อมต่อผู้เล่นได้สูงสุด 7 คน พร้อมความสามารถในการสตรีมมิ่งไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ต่อเนื่องไปยังการสร้าง Active Augmented Reality ให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนไหว โต้ตอบระหว่างภาพเสมือนกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วย

​ขณะเดียวกันในภาคอุตสาหกรรม ก็มีการนำ 5G AR ไปใช้อย่างการเทรนนิ่ง หรือการนำเสนอ ที่ทางกลุ่มทรูเข้าไปร่วมงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา รวมถึงบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ AR ที่จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศของทั้งARและXRในประเทศไทย

​พิรุณ ระบุอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้ทรู 5G เป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการอย่างเดียว แต่จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศ 5G ในเมืองไทยให้เกิดขึ้น ก่อนต่อยอดไปสู่การใช้งานในด้านอื่นๆ ต่อไป

​‘ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของบุคลากรในประเทศไทย เพราะนอกจากผู้ใช้แล้ว ต้องมีระบบนิเวศขึ้นมาเพื่อผลิตคอนเทนต์ ที่มีการตื่นตัวกันสูงขึ้นโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆ และทางทรูก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งรวมถึง True 5G XR Studio ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ของ AR และ XR ในประเทศไทย’

***ประยุกต์สู่แพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์ทางไกล

อีกหนึ่งประโยชน์ของการนำเครือข่าย 5G มาใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือเรื่องของการทำ Telehealth หรือ บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล ภายใต้แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะอย่าง ‘ทรู เฮลท์’ ในกลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจ

​เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ ทั้งโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ไม่สามารถเดินทางไปรักษาที่โรงพยายาลได้ทั้งจากการที่อาการของโรคจะเกี่ยวกับปอดเหมือนอาการของโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงในการไปโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

​ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดกว่า 3 ล้านคน แต่จากข้อจำกัดในการเดินทาง และความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด และในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่จะมีอาการรุนแรงได้ ทางจีเอสเค จึงได้เข้าไปร่วมกับกลุ่มทรู ในโครงการ ‘Telehealth Together’ คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี โดยนำศักยภาพของการสื่อสารผ่านทางไกล โดยเฉพาะเครือข่าย 5G ที่สามารถใช้งานวิดีโอคอลล์เพื่อปรึกษา และพบแพทย์ ถือเป็นการยกระดับบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม ตรงตามยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เน้นให้ความสำคัญในปี 2564 นี้

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า กลุ่มทรูต้องการส่งเสริมและผลักดันการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล มาช่วยยกระดับการทำงานและการใช้ชีวิต ตลอดจนขับเคลื่อนภาคธุรกิจในทุกประเภทอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยและประเทศไทย

​‘การต่อยอดฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ทรู เฮลท์ ให้สามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่าย ผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ และยังคงได้รับบริการเหมือนกับที่โรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ’

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการนำเครือข่าย 5G ไปใช้งานในลักษณะต่างๆ เริ่มเห็นได้ชัดเจนและสร้างคุณค่าให้สังคมมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

Leave a Comment