มองภาพ ‘หัวเว่ย คอนซูเมอร์’ ยุคใหม่ เน้นไอทีนำ เสริมด้วยอีโคซิสเต็ม (Cyber Weekend)

การทยอยเปิดตัวสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไอทีอย่างต่อเนื่องของหัวเว่ย (Huawei) ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ จอมอนิเตอร์ สมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สาย ที่สามารถผสมผสานการใช้งานเข้าด้วยกันเป็นอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ได้เข้ามาปรับภาพธุรกิจในฝั่งคอนซูเมอร์ได้อย่างน่าสนใจ

​ข้อมูลจากการ์ทเนอร์ ระบุว่า ในปี 2564 นี้ การทำงานจากระยะไกล (Remote Work) หรือที่คุ้นชินในยุคสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าเป็นการ Work from Home จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 32% ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก จากในปี 2562 ที่อยู่ราว 17%

​จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสของบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่นอกจากต้องบริหารจัดการซัปพลายเชนให้ดีเพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการที่องค์กรธุรกิจต้องถูกบังคับให้ทำแผนรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

​ทางการ์ทเนอร์ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2564 การทำงานระยะไกลจะผลักดันความต้องการใช้งานพีซี และแท็บเล็ตทั่วโลกกว่า 500 ล้านเครื่อง ซึ่งจะเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้ เมื่อเห็นทิศทางของตลาดที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ไอทีเพื่อนำไปใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หัวเว่ยจะเดินหน้ารุกตลาดไอทีในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

​ก่อนหน้านี้ เกวิน เฉิง ผู้อำนวยการบริษัท หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) แสดงความเห็นถึงการปรับกลยุทธ์ของหัวเว่ยที่จะหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมาร์ทดีไวซ์เท่ากันทั้งหมด ไม่ได้เน้นเฉพาะสมาร์ทโฟนแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยในเวลานั้น หัวเว่ยเตรียมแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดประเทศไทยในกลุ่มไอทีกว่า 50 รุ่น บนเป้าหมายในการสร้างอีโคซิสเต็มในการใช้งานที่สมบูรณ์รองรับทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน และการทำงาน

​ความน่าสนใจในอีโคซิสเต็มของหัวเว่ย ที่เกิดขึ้นหลังจากทยอยเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ยิ่งเข้ามาตอกย้ำให้เห็นว่า สมาร์ทโฟน ไม่ใช่จุดศูนย์กลางภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ชีวิตเอไอไร้รอยต่อ’ อีกต่อไปแล้ว

​เนื่องจากไม่ว่าแท็บเล็ต ที่ทำงานบน HormonyOS หรือแม้กระทั่งโน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ก็สามารถเข้ามาเป็นศูนย์กลางในการใช้งานได้ และทุกผลิตภัณฑ์สามารถเชื่อมต่อเข้าหากันเพื่อใช้งานได้ทันที

***ตรวจแถวทัพสินค้าไอที

​ปัจจุบัน หัวเว่ยเริ่มจากการทำตลาดโน้ตบุ๊กในกลุ่ม MateBook ที่ปัจจุบันมีวางจำหน่ายในท้องตลาดหลากหลายรุ่น ตามมาด้วยแท็บเล็ตที่เพิ่งทยอยเปิดตัวไป ไม่ว่าจะเป็น HUAWEI MatePad Pro 12.6 นิ้ว รุ่นท็อปสุด ที่เน้นนำเสนอว่าเหมาะกับครีเอเตอร์ยุคใหม่ที่ต้องการแท็บเล็ตคู่ใจ ตามมาด้วย MatePad Pro 10.8 นิ้ว ที่ปรับสเปกลงมาเล็กน้อยให้เหมาะกับการใช้งานทั่วไปมากขึ้น เสริมด้วย MatePad 11 ที่เน้นเรื่องการแสดงผลจาก Refresh Rate 120 Hz ที่จะทยอยวางจำหน่ายต่อไป

​ถัดมาในกลุ่มของจอมอนิเตอร์ ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มที่ความต้องการเพิ่มขึ้นจากช่วง WFH พนักงานบางส่วนที่ทำงานที่บ้านต้องการหน้าจอมอนิเตอร์มาใช้เชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กเพื่อทำงาน ที่มีสเปกดี ในระดับราคาที่น่าสนใจ HUAWEI จึงนำเสนอ MateView หน้าจอขนาด 28.2 นิ้ว ความละเอียด 4K มาให้ใช้ในราคา 22,990 บาท

​จุดที่ทำให้ MateView น่าสนใจคือนอกจากรองรับการเชื่อมต่อกับพีซี แท็บเล็ตแล้ว ยังรองรับการใช้งาน Huawei Share ที่สามารถเชื่อมต่อจอจากสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตขึ้นไปใช้งานบนจอแบบไร้สายได้อีกด้วย และภายในยังมีลำโพงติดตั้งมาให้ด้วย

​ในจุดนี้ หัวเว่ยได้เพิ่มไลน์ในกลุ่มพีซีเข้ามา ด้วย MateStation S เดสก์ท็อปที่ออกแบบมาเน้นการทำงานโดยเฉพาะจากชิปเซ็ต AMD Ryzen 5 SSD 256 GB ซึ่งสามารถรองรับการทำงานทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังออกแบบมาให้ใช้งานคู่กับเมาส์ และคีย์บอร์ดไร้สายด้วย

​อีกกลุ่มที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือ ตลาดของเกมเมอร์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคต้องการเข้าถึงความบันเทิงจากที่บ้านในเวลาที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ MateView GT ได้กลายเป็นมอนิเตอร์ที่เข้ามาตอบความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ด้วยหน้าจอขนาดโค้งใหญ่ถึง 34 นิ้ว รองรับ Refresh Rate สูงถึง 165 Hz จึงเหมาะกับการเล่นเกมเป็นอย่างมากในราคา 17,990 บาท

​นอกจากนี้ ยังมีสมาร์ทดีไวซ์เพิ่มเติมอย่างหูฟังไร้สาย HUAWEI FreeBuds 4 ที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนที่จะเปิดปิดการใช้งานแบบอัตโนมัติ สามารถเชื่อมต่อได้ 2 อุปกรณ์พร้อมกัน ทำให้สามารถสลับการใช้งานระหว่างพีซี แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนได้อย่างไร้รอยต่อ วางจำหน่ายในราคา 4,490 บาท

​รวมถึงสมาร์ทวอทช์รุ่นใหม่อย่าง HUAWEI Watch 3 ที่มีความฉลาดขึ้นทั้งแง่ของการใช้งาน และการเชื่อมต่อ โดยตัวเครื่องรองรับการใช้งาน eSIM ร่วมกับทางเอไอเอส และทรูมูฟ เอช ได้ทันที ทำให้สามารถรับโทรศัพท์จากนาฬิกาได้ทุกที่ทุกเวลา และยังมาพร้อมแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ต่อเนื่อง 3 วันในโหมดอัจฉริยะ และ 14 วันแบบสแตนด์บาย

ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มฟีเจอร์เกี่ยวกับสุขภาพเข้ามาอย่างน่าสนใจ ทั้งการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดค่าออกซิเจนในเลือด จนถึงวัดอุณหภูมิ ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้กลายเป็นค่าสุขภาพที่มีความสำคัญในสถานการณ์โควิด-19 นี้เป็นอย่างมาก

​สุดท้าย เพื่อให้อีโคซิสเต็มสมบูรณ์แบบมากที่สุด หัวเว่ยยังได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน nova 8i ซึ่งยังเป็นรุ่นสุดท้ายที่มากับระบบปฏิบัติการ Android 10 ให้มาใช้งานควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในราคา 9,990 บาท

​เมื่อดูถึงไลน์สินค้าที่ หัวเว่ย เลือกนำมาทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง จึงเห็นได้ชัดเจนว่า กำลังมุ่งโฟกัสไปที่ตลาดไอทีด้วยอุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงาน หรือเพื่อความบันเทิงได้อย่างเต็มที่ และไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุกระบบปฏิบัติการ ทุกแพลตฟอร์มสามารถทำงานร่วมกันได้

​ต้องจับตาดูกันว่าหลังจากการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์มามุ่งที่กลุ่มของอุปกรณ์ IoT และสมาร์ทดีไวซ์มากยิ่งขึ้นจะยังช่วยให้หัวเว่ย สามารถรักษาอัตราการเติบโตในกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ไว้ตามที่ตั้งเป้าหมายหรือไม่

Leave a Comment