ในประเทศจีน เสียวหมี่ (Xiaomi) ใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ในปี 2011 วางขายสมาร์ทโฟนจนเบียดแซงซัมซุง (Samsung) ที่ครองตลาดจีนอย่างยาวนาน ขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดประเทศจีนในปี 2014 พร้อมไปกับเริ่มขยายแบรนด์ออกสู่ตลาดโลก
ก่อนที่ในปี 2017 เสียวหมี่ เริ่มบุกเข้ามาในตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผู้บริหารของเสียวหมี่ ในช่วงเวลานั้นเคยวางเป้าหมายว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปี ในการขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย เหมือนที่เสียวหมี่ เคยทำสำเร็จมาแล้วในอินเดีย และอีกหลายๆ ประเทศ จนมาถึงล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2021 หรือเกือบ 5 ปี เสียวหมี่ ก็ประสบความสำเร็จด้วยการขึ้นเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย
เมื่อย้อนมองถึงเส้นทางของ เสียวหมี่ ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่การสร้างการรับรู้ในประเทศไทย เสียวหมี่ จะใช้กลยุทธ์หลักอย่างการสร้างคอมมูนิตี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้งานของเสียวหมี่ในช่วงแรก คือกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาสินค้าราคาคุ้มค่า คุ้มราคา เมื่อได้ลองใช้งานแล้วก็จะเกิดการบอกต่อกัน จนทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
ทำให้เกิดกลุ่มผู้ใช้งานอย่าง Mi Fans ขึ้น และถือเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่มีความรักในแบรนด์สูง มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมไปกับการเข้าถึงช่องทางจำหน่ายอีคอมเมิร์ซที่ครอบคลุม ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้สะดวกขึ้น แม้ว่าในยุคนั้นอีคอมเมิร์ซจะไม่บูมเหมือนช่วงเวลานี้ แต่ก็เป็นการวางรากฐานที่สำคัญของเสียวหมี่ ในประเทศไทย
ประกอบกับการที่ยอดขายสมาร์ทโฟนในประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้ในที่สุด เสียวหมี่ ตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงต้นปี 2020 และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การตอบรับของ เสียวหมี่ ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ข้อมูลจากสำนักวิจัย Canalyst ที่เปิดเผยออกมาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2020 ระบุว่า เสียวหมี่ มีอัตราการเติบโตถึง 234% ครองส่วนแบ่งการตลาด 10% ถือเป็นอันดับที่ 4 ในเวลานั้น รองจาก ซัมซุง วีโว่ และออปโป้ ที่มีส่วนแบ่ง 19% 19% และ 16% ตามลำดับ
ก่อนตอกย้ำการเติบโตอย่างชัดเจนอีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2021 ด้วยอัตราการเติบโตถึง 328% ทำให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 20% รองจากซัมซุง ผู้นำในช่วงเวลานั้นจากส่วนแบ่งตลาด 24% ในขณะที่ออปโป้ รักษาส่วนแบ่งการตลาดที่ 16% ไว้ได้ ส่วนวีโว่ กลับเสียส่วนแบ่งบางส่วนไปเหลือ 15%
ตามด้วยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เสียวหมี่ ยังรักษาอัตราการเติบโตไว้ที่ 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จนทำให้เบียดแซง ซัมซุง ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 21% ในขณะที่ซัมซุงหล่นไปเป็นอันดับ 3 จากส่วนแบ่งตลาด 19% ใกล้เคียงกับออปโป้ในอันดับที่ 2 ในส่วนแบ่งตลาด 19% เช่นเดียวกัน
แม้ว่ารายงานจาก Canalyst ที่เปิดเผยออกมา จะเป็นข้อมูลในส่วนของจำนวนสมาร์ทโฟนที่วางจำหน่าย ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าตลาดที่แน่นอนว่าปัจจุบัน ซัมซุง ยังครองตำแหน่งผู้นำอยู่จากการจำหน่ายสมาร์ทโฟนในราคาระดับแฟลกชิปเป็นหลัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ยอดขายของสมาร์ทโฟนในระดับรองลงมานั้นมีปัญหา
เมื่อเจาะลึกเข้าไปในช่วงเวลาที่ เสียวหมี่ เติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากการที่ หัวเว่ย (Huawei) ถูกสหรัฐฯ สั่งแบนทำให้สมาร์ทโฟนไม่สามารถใช้บริการของกูเกิล (Google) ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่ใช้งานหัวเว่ย และถึงเวลาต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ มองหาทางเลือกอื่นที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น และโปรดักส์ของเสียวหมี่เข้ามาตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
แน่นอนว่า เสียวหมี่ ทราบดีว่าการมองยอดขายในแง่ของจำนวนเครื่องที่มากที่สุดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทำให้สิ่งที่เสียวหมี่ ต้องเดินหน้ามากขึ้นคือการนำแฟลกชิปสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ที่มีความพรีเมียมเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Mi 11 Ultra มาวางจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 100 เครื่อง และขายหมดภายในเวลาไม่กี่นาที
โดยปัจจุบันสัดส่วนสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ที่ทำตลาดในประเทศไทยนั้นมีความใกล้เคียงกับภาพรวมตลาดคือจะอยู่ในกลุ่มเริ่มต้น (Entry) ระดับราคาไม่เกิน 6,000 บาท ประมาณ 65% ตามมาด้วยในระดับกลางช่วงราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาทราว 25% และระดับไฮเอนด์ประมาณ 10% และเชื่อว่าสัดส่วนนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกพักใหญ่ๆ
โจนาธาน คัง ผู้จัดการ เสียวหมี่ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเสริมว่า หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่เสียวหมี่ นำมาใช้งานในช่วงหลังคือการใช้ Smartphone x AIoT ที่นอกจากทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความคุ้มค่าของสมาร์ทโฟนเสียวหมี่แล้ว ในขณะเดียวกันสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ต่างก็มาช่วยเสริมให้ภาพของแบรนด์นั้นมีความทันสมัยมากขึ้น
‘ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเสียวหมี่มีการประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนโลโก้ที่ใช้งานให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับประกาศการลงทุนในธุรกิจใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่ลงทุนไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท และวางแผนที่จะลงทุนต่อเนื่องกว่า 3.28 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า’
ปัจจุบันเสียวหมี่ทำตลาดสมาร์ทโฟนมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และกว่า 65 ประเทศอยู่ใน 5 อันดับแรก และมีถึง 22 ประเทศทั่วโลกที่ขึ้นเป็นผู้นำเรียบร้อยแล้ว จากจำนวนหน้าร้านทั่วโลกกว่า 1,000 แห่ง ไม่นับในจีน และอินเดีย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่จะขยายเป็น 100 สาขาทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้
สำหรับซีรีส์สมาร์ทโฟนของ เสียวหมี่ ในเวลานี้จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆ ด้วยกันคือรุ่นเริ่มต้นราคาประหยัดในตระกูล Redmi ตามมาด้วยรุ่นที่เน้นความคุ้มค่าอย่าง Redmi Note ก่อนขึ้นมาเป็นในกลุ่มแฟลกชิปอย่าง Xiaomi T ซีรีส์ ที่จะโดดเด่นในเรื่องกล้อง Xiaomi ซีรีส์ ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพ และการใช้งานระดับไฮเอนด์ ปิดท้ายด้วย Xiaomi Mix ของพรีเมียมแฟลกชิป
ในขณะที่กลุ่มสินค้า AIoT นั้น เสียวหมี่ เพิ่งก้าวขึ้นเป็นผู้นำสมาร์ทแบนด์ หรืออุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ จากการจำหน่าย Mi Band 6 เฉือนชนะ Apple Watch ไปอย่างสูสี รวมถึงในกลุ่มสมาร์ททีวีที่กลายเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์อับดับ 5 ของโลกเรียบร้อยแล้ว ส่วนในประเทศไทยยังมีกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมหลากหลายทั้งเครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่จะทยอยอัปเดตรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดต่อเนื่องในปีนี้
โจนาธาน ให้ความเห็นเพิ่มเติม เกี่ยวกับการที่ตลาดรวมสมาร์ทโฟนในช่วงไตรมาส 2 นั้นหดตัวลงถึง 9% ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนชิปเซ็ตทำให้สินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายมากขึ้น และทางเสียวหมี่จะทำให้ดีที่สุดในการนำสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
ทำให้ในช่วงปลายปีนี้ ต้องจับตามองว่า เสียวหมี่ จะสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่องได้มากแค่ไหน ท่ามกลางการแข่งขันในกลุ่มสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่ทยอยเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังทั้งจากสมาร์ทโฟนจอพับของซัมซุง และ iPhone 13 ที่เพิ่งเปิดตัวไป
แต่แน่นอนว่า เสียวหมี่ มีอาวุธในมือที่เตรียมพร้อมไว้แล้วอย่าง Xiaomi 11 ซีรีส์ Xaiomi Pad 5 ที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย และอุปกรณ์ AIoT อีกมากมาย